ช้าสามแก้ว ๒

Saurauia tristyla DC.

ชื่ออื่น ๆ
สามแก้ว (นครศรีธรรมราช)
ไม้ต้น กิ่งอ่อนมีขนหรือเกล็ดสีน้ำตาลและมีรอยแผลใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ตามปลายกิ่ง รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกลับหรือรูปใบหอกกลับ ขอบจักฟันเลื่อยถี่ ปลายจักสีแดงเข้ม ช่อดอกแบบช่อกระจุกออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ ดอกสีชมพูหรือสีขาวแกมชมพู ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม มี ๕ พูตามยาว มีกลีบเลี้ยงติดทนขยายใหญ่หุ้มที่โคน เมล็ดรูปคล้ายกรวยหงายหรือรูปลิ่มมีจำนวนมาก

ช้าสามแก้วชนิดนี่เป็นไม้ต้น สูง ๓-๑๐ ม. เส้นรอบวง ๓๐-๖๐ ซม. เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมแดง ค่อนข้างบางและเรียบ มีช่องอากาศประปรายกิ่งอ่อนมีขนหรือเกล็ดสีน้ำตาลและมีรอยแผลใบทั่วไปเนื้อไม้สีขาวแกมเหลือง ค่อนข้างอ่อน โดยเฉพาะส่วนกลางของกิ่งอ่อนเนื้อโปร่งหรือค่อนข้างเป็นโพรงตามแนวยาว

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ตามปลายกิ่ง รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกลับหรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๕-๘ ซม. ยาว ๑๘-๓๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนสอบแคบสู่ก้านใบ ขอบจักฟันเลื่อยถี่ ปลายจักคล้ายหนามแหลม เล็ก และมีสีแดงเข้ม แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง สีเขียวเข้มด้านล่างสีเขียวอ่อน เมื่ออ่อนมีขนสีนวลประปรายเส้นกลางใบนูน เห็นชัดทางด้านล่าง มีขนและช่องอากาศประปราย ด้านบนเป็นร่องหรือเรียบ และมีขนหรือเกล็ดประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๑๕-๒๕ เส้น เรียงถี่และขนานกัน เส้นโค้งอ่อน ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันไดเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบร่างแห พอเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบเรียว ยาว ๑.๕-๓ ซม. เป็นร่องทางด้านบน มีขน เกล็ด และช่องอากาศประปราย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ โคนช่อคล้ายปุ่มปม ก้านดอกเรียวเล็ก ยาวประมาณ ๑ ซม. ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๒ ซม. โคนก้านช่อและกลางก้านดอกมีใบประดับรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. ติดทน ทุกส่วนมีขนหรือเกล็ดสีน้ำตาลแกมเทาค่อนข้างหนาแน่น กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๕ กลีบ กลีบเลี้ยงซ้อนเหลื่อม รูปไข่ค่อนข้างป้อมและงุ้มเข้า กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ด้านนอกมีขนประปราย กลีบดอกสีชมพูหรือสีขาวแกมชมพู รูปไข่กลับหรือรูปรี ขนาดใกล้เคียงกับกลีบเลี้ยง เรียงซ้อนเหลื่อม ร่วงง่าย เกสรเพศผู้จำนวนมาก ติดบริเวณโคนกลีบดอกด้านในล้อมรอบรังไข่ อับเรณูติดแบบไหวได้ แตกทางด้านบน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างป้อมหรือรูปกรวยคว่ำกว้างประมาณ ๓ มม. สูงประมาณ ๕ มม. มีขนประปราย มี ๕ ช่อง พบน้อยที่มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็นแฉกเรียวแหลม ๕ แฉก พบน้อยที่มี ๓ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๕-๗ มม. มี ๕ พูตามยาว เมื่อแก่จัดแตกตามรอยประสานจากปลายสู่โคน มีกลีบเลี้ยงติดทนขยายใหญ่หุ้มที่โคน เมล็ดรูปคล้ายกรวยหงายหรือรูปลิ่ม กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. มีจำนวนมาก

 ช้าสามแก้วชนิดนี่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบขึ้นตามชายป่าดิบ ใกล้ลำธารหรือริมลำธาร ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงสิงหาคมในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช้าสามแก้ว ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Saurauia tristyla DC.
ชื่อสกุล
Saurauia
คำระบุชนิด
tristyla
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Candolle, Augustin Pyramus de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1778-1841)
ชื่ออื่น ๆ
สามแก้ว (นครศรีธรรมราช)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย